Page 1 of 1

ความ(ไม่)ลับใน 3 G

Posted: 06 Apr 2013, 17:01
by brid.ladawan
ladawan
Hero Member
*****
Posts: 824


View Profile Email


ความ(ไม่)ลับใน 3 G
« on: November 29, 2012, 08:14:55 am »

ความ(ไม่)ลับใน 3 G


ในที่สุดการจัดประมูลใบอนุญาตให้ บริการโทรศัพท์มือถือ 3 G ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ของวงการโทรคมนาคมของไทย และเป็นการเปลี่ยนระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต หลังจากก่อนที่จะมีการประมูลใบอนุญาต ได้มีนักวิชาการออกมาคัดค้านและฟ้องต่อศาลปกครองว่าไม่มีความโปร่งใส ซึ่งศาลปกครองมีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้อง การดำเนินการประมูลใบอนุญาตจึงยังคงดำเนินการต่อไป

แต่กระนั้นก็ดี แม้การประมูลได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ก็ยังคงมีองค์กรและสถาบันวิชาการหลายต่อหลายกลุ่มที่ยังคงยืนหยัดและมั่นใจ ในกระบวนการทางความคิดและการประเมินผลของตนว่า การประมูลครั้งนี้ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย โดยกำหนดราคาประมูลตั้งต้นไว้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้รัฐได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีการแข่งขันกันเท่าที่ควรจะเป็น และเรียกร้องให้ กสทช. แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรัฐและประชาชน ทั้งที่การประมูลคลื่นความถี่ควรให้ความสำคัญกับความต้องการในการให้บริการ ของประชาชนเป็นหลัก

ผลการประมูลครั้งนี้ คือ 41,650 ล้านบาท ตัวเลขนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่องค์กรและสถาบันวิชาการบางแห่งออกมาอ้างว่า เพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเพียงร้อยละ 2.78 ซึ่ง กสทช. กำหนดให้ประมูลคลื่นความถี่จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) โดยแบ่งออกเป็น 9 ชุด (slot) ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ในราคาตั้งต้นที่ชุดละ 4,500 ล้านบาท รวมเป็นราคาประมูลขั้นต่ำจะมีมูลค่า 40,500 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลสูงสุดได้เพียง 3 ชุด หรือ 15 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ผู้ที่ชนะการประมูลโดยให้ราคาสูงสุดจะมีสิทธิเลือกคลื่นความถี่ชุดที่ดี ที่สุดได้ก่อน

ในประเด็นที่เกี่ยวกับราคาประมูลนี้ หากราคาประมูลที่ไม่สูงเกินไป ก็จะทำให้อัตราค่าบริการไม่สูงตามไปด้วย และจะทำให้เกิดอัตราค่าบริการที่เหมาะสม ซึ่งประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้บริการได้

ราคาที่ประมูลได้ 41,650 ล้านบาท ยังนับว่าสูงกว่าการประมูล 3 Gในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ เยอรมนี และอินโดนีเซีย

ได้มีงานวิจัยของคณะอาจารย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประเมินมูลค่าของคลื่นจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ไว้ที่ 6,440 ล้านบาท ทำให้องค์กรและสถาบันวิชาการบางแห่งต่างแสดงความเห็นว่า การที่ กสทช. กำหนดราคาประมูลตั้งต้นหรือขั้นต่ำ 4,500 ล้านบาท ต่อคลื่นจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป ซึ่งควรกำหนดไว้ที่ 6,440 ล้านบาท ต่อคลื่นจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ดังนั้น มูลค่าขั้นต่ำทั้งหมดควรจะเป็น 57,960 ล้านบาท เท่ากับประเทศเสียผลประโยชน์จากมูลค่าคลื่นที่ควรจะได้ 16,335 ล้านบาท

แต่องค์กรและสถาบันเหล่านั้นกลับไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดว่า งานวิจัยดังกล่าวยังได้เสนอแนะด้วยว่า การกำหนดราคาตั้งต้นหรือขั้นต่ำของการประมูลคลื่นความถี่ควรกำหนดให้มีราคา ที่ร้อยละ 67 ของมูลค่าคลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน

การที่ กสทช. กำหนดราคาตั้งต้นหรือขั้นต่ำที่ชุดละ 4,500 ล้านบาท ต่อคลื่นจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ซึ่งเป็นร้อยละ 70 ของมูลค่าคลื่นความถี่ ก็ยังนับว่าสูงกว่าข้อเสนอแนะของคณะอาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงร้อยละ 3 กลับไม่มีการกล่าวถึง

นอกจากนี้ ในการประมูลครั้งนี้มีผู้ขอข้อมูลเกี่ยวกับการประมูล 6 ราย และมีผู้เสนอตัวจะเข้าประมูลทั้งหมด 4 ราย แต่มีผู้ที่มีคุณสมบัติในการเข้าร่วมประมูลได้เพียง 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือดีแทค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือกลุ่ม บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมประมูลเพราะไม่สามารถจัดแบงก์ การันตีจากธนาคารได้ แสดงว่ามีผู้สนใจและแสดงเจตนาเข้าร่วมการประมูลมากกว่าจำนวนคลื่นความถี่ที่ มี

ความพยายามที่จะให้การประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 3 G ครั้งแรกในประเทศไทยเป็นโมฆะ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ เมื่อหันไปดูประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่จะเริ่มเปิดบริการโทรศัพท์มือถือ 4 G เป็นครั้งแรก ในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 9 ที่กรุงเวียงจันทน์ ในระหว่างวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2555 นี้ และประเทศสหราชอาณาจักรได้เปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือ 4 G ใน 11 เมืองใหญ่ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ในขณะที่เรื่อง 3 G ในประเทศไทยยังล้มลุกคลุกคลาน

หากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 3 G ครั้งแรกในประเทศไทยนี้ อาจจะมีความไม่เหมาะสมด้วยเหตุใด ๆ อยู่บ้าง ในความเห็นที่หลากหลาย แต่หากไม่เป็นกรณีที่ผิดกฎหมาย ก็ควรให้กระบวนการต่าง ๆ ดำเนินการลุล่วงไปจนเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้ความเชื่อมั่นในประเทศไทยยังคงอยู่ ส่วนกระบวนการสอบสวนที่จะหาผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็ให้เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ล่าสุดได้มีผู้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบเกี่ยวกับการประมูล เรื่องนี้ ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจะได้แสดงบทบาทพิจารณาไปตามข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามอำนาจหน้าที่ที่มีให้เสร็จเด็ดขาด หรือจะแสดงบทบาทเพียงบุรุษไปรษณีย์ที่ส่งต่อเรื่องให้ศาลปกครองกลางเป็นผู้ พิจารณา ซึ่งจะทำให้กระบวนการต่าง ๆ ต้องยืดยาวออกไปอีก

ขณะนี้เรื่องโทรคมนาคมของประเทศไทยถือได้ว่า ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ไปมากแล้ว และจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ หากเรายังติดอยู่กับหลุมพราง หรือกับดักของกฎหมายโดยไม่พิจารณาถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย.



ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์
post : วันจันทร์ ที่ 12 พฤศจิกายน 2555 เวลา 9:43:25 น. by www.CreditOnHand.com
tag : ข่าวไอทีอัพเดท ความ(ไม่)ลับใน 3 G