Page 1 of 1

ดับฝันเกษตรกรปีหน้าราคาสินค้าเกษตรตกแน่!

Posted: 12 Nov 2014, 09:16
by brid.siriwan
ดับฝันเกษตรกรปีหน้าราคาสินค้าเกษตรตกแน่!

เผยผลพวงจากดอลล่าร์แข็งค่า พาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ทำให้เกษตรกรรายได้หด ส่วนส่งออกเชื่อดีขึ้นแต่ไม่โตมาก

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยในงานสัมมาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 58 เรื่องอนาคตเศรษฐกิจไทย ก้าวต่อไป จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ว่า เศรษฐกิจไทยปี 58 จะเผชิญปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างแน่นอน โดยเฉพาะยางพารา เพราะได้รับผลกระทบจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของเกษตรกรไทย ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออก แม้ว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 57 แต่ก็เพิ่มขึ้นไม่มาก หรืออยู่ที่ 4% ส่วนสิ่งที่ต้องจับตาในปีหน้า คงต้องพิจารณาถึงรายจ่ายการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวมากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกันสถานการณ์ท่องเที่ยวว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีนี้หรือไม่

ทั้งนี้สิ่งที่รัฐควรต้องเร่งแก้ไข ควรต้องโฟกัสไปในสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน โดยจัดลำดับความสำคัญของนโยบายที่ต้องทำเร่งด่วนและต้องทำให้สำเร็จก่อน 2-3 เรื่อง เช่น แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการเกษตร โดยเน้นเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งการลงทุนภาครัฐ และเอกชนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ระดับการลงทุนของไทยยังไม่สูง หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ควบคู่กับการปรับปรุงระบบการศึกษา จากเดิมที่เน้นปริมาณมาเป็นเน้นประสิทธิภาพ เช่น สาขาคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมาได้รับความนิยมมากสุด มีผู้เรียนจบในสาขาดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 11,000 คน แต่ก็มีคนตกงานมากที่สุด เพราะไม่มีคุณภาพ และบางส่วนจบมาก็ทำงานได้แค่เป็นเสมียนเท่านั้น

“ที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจไทยจะเจอวิกฤตแต่ก็ไม่ได้ดิ่งลงมาก เพราะตัวแปรต่าง ๆ ยังเข้มแข็ง เช่น ภาระหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพอยู่ แต่ก็คงโตได้แค่นี้ ไม่สูงกว่านี้แล้ว และหากมองย้อนไปถึงนโยบายของรัฐที่ผ่านมาทุกรัฐบาล ก็เน้นแต่ด้านอุปสงค์ ลดแลกแจกแถม แจกหมด ทั้งแท็บเลต รถคันแรก เช็คช่วยชาติ ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจฟื้นได้ไม่เต็มที่ ซึ่งปีหน้า เชื่อว่ายังไงก็ดีกว่าปีนี้ แต่ก็คงโตได้ 4% ตามที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้”

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย คือ ประชากรของไทยที่อยู่ในภาคการเกษตรย้ายออกไปอยู่ในภาคบริการเพิ่มขึ้น แทนที่จะย้ายไปภาคอุตสาหกรรม ที่มีรายได้สูงกว่า และช่วยสร้างประสิทธิภาพแรงงานมากกว่า ขณะเดียวกันผู้ที่อยู่ในภาคการเกษตรที่ไม่ได้ย้ายออกส่วนหนึ่งก็เกิด จากนโยบายรัฐที่สร้างแรงจูงใจให้คนอยู่ในภาคการเกษตร เช่น นโยบายจำนำข้าว

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายวิจัยธุรกิจหลังทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งของไทยคือ พึ่งพาการส่งออกถึง 70% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แม้ว่าในอดีตก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนการส่งออกเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันก็เห็นชัดแล้วว่า มีปัญหาอย่างไร ดังนั้นนโยบายของรัฐควรจะต้องโฟกัสให้ชัดเจนว่า จะเดินหน้าต่อไปอย่างนี้ หรือหาแนวทางอื่น ที่นอกเหนือจากการส่งออกมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน

ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อจากนี้ ควรมองให้เห็นถึงแนวทางการสร้างโอกาส มากว่าเน้นเรื่องการสร้างรายได้ ความคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ และการสนับสนุนให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ส่วนเรื่องของคอร์รัปชั่น ก็ต้องสร้างจิตสำนึก เพราะปัจจุบันเรื่องดังกล่าวมีแนวโน้มแรงรุนขึ้นต่อเนื่อง

“ประเทศไทยขณะนี้ เป็นฐานการผลิตให้บริษัทข้ามชาติ เช่น ญี่ปุ่น ที่เห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นในการผลิตรถยนต์ ต่อไปเราจึงต้องมาโฟกัสว่า เราจะอยู่อย่างนี้ต่อไปหรือไม่ โดยอาจมองถึงภาคการเกษตร จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตอย่างไรให้มีคุณภาพ เพราะเดิมภาคการเกษตรมีสัดส่วนเพียง 10% ต่อจีดีพี จะเพิ่มเป็น 30-50% หรือจะเน้นภาคอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น พื้นที่เพิ่มขึ้น และใช้พลังงานเพิ่มขึ้น หรือจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งแนวทางทั้งหมดเราต้องกำหนดเป็นพื้นฐานไว้ว่า เราจะหากินอย่างไรให้ลูกหลานเรารวยกว่าเรา”

ที่มา เดลินิวส์
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557